ดารุมะเป็นตุ๊กตารูปทรงกลมๆ สีแดง มีเครื่องหน้า หนวด คิ้วครบ เว้นแต่ตอนที่แกะกล่องใหม่ๆ จะไม่มีลูกตา
ลูกพระอาทิตย์ทุกคนต้องรู้จักตุ๊กตาดารุมะ "Bodhidharma" คือชื่ออย่างเป็นทางการของเจ้าดารุมะ แปลว่ากฎแห่งการรู้แจ้งนั่นเอง ถ้าไปญี่ปุ่นคุณจะเจอะเจอดารุมะได้ตามร้านขายตุ๊กตา ของเล่น หรือของที่ระลึกต่งๆ รวมไปถึงงานเทศกาลต่างๆ ที่วัดจัดขึ้น ในงานผู้คนจะพากันซื้อดารุมะเก็บไว้เป็นเครื่องรางนำโชค
ตุ๊กตาดารุมะแบบคลาสสิกทำมาจากเปเปอร์มาเช่ วิธีทำก็คือแช่กระดาษในแป้งเปียกที่ทำจากข้าวจนอ่อนนุ่ม จากนั้นค่อยๆแปะกระดาษลงบนพิมพ์ไม้ที่แกะสลักอย่างหยาบๆ เสร็จแล้วนำไปตากแดด พอกระดาษแห้งก็ผ่าออกเป็นสองซีก แล้วแกะเอาแม่พิมพ์ข้างในออก ใช้กาวผสานทั้งสองส่วนกลับสู่สภาพเดิม ถ่วงน้ำหนักไว้ที่ฐานตุ๊กตา ทาด้วยสีแดง ขาว และทอง เป็นอันเสร็จพิธี
หนึ่งในดารุมะที่นิยมกันมาก เป็นชนิดที่ทำจากไม้ตัวเล็กๆ ข้างในสอดกระดาษคำทำนายเอาไว้ นับเป็นกุศโลบายในการผสมผสานพุทธกับไสยได้ดีเยี่ยม ดารุมะมีมากมายหลายไซส์ ตั้งแต่ใหญ่สุดขนาด 2 คนโอบสูงประมาณ 2 ฟุต ไปจนถึงขนาดเล็กแค่ลูกเทนนิส ถึงขนาดจะเปลี่ยนไปตามความต้องการของคนทำ แต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือตัวทาสีแดงหน้าดุ คิ้วหนา หนวดเฟื้ม และที่สำคัญถ้าเป็นของใหม่แกะกล่องต้องไม่มีลูกตา
เมื่อคุณซื้อตุ๊กตาดารุมะมาครอบครองเปรียบได้กับว่าคุณจ่ายเงินซื้อความหวังและความกล้านั่นเอง ถ้าคุณปรารถนาให้ความฝันใดเป็นจริงขึ้นมา คุณต้องแต้มตาดำข้างหนึ่งให้เจ้าดารุมะ พลางอธิษฐานขอพร เป็นเชิง(ติดสินบน)บนว่าถ้าสิ่งที่หวังไว้เป็นจริงคุณจะแต้มตาข้างที่เหลือให้เขา และแม้ว่าความฝันจะไม่มีวันเป็นจริง แต่ดารุมะก็เสมือนเป็นกำลังใจให้คุณยืนหยัดสู้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เพราะทุกครั้งที่คุณผลักเจ้าดารุมะล้มลง มันก็จะเด้งกลับขึ้นมาตั้งตรงดังเดิม เหมือนกำลังพูดกับคุณซ้ำๆ... "พยายามหน่อย ลองดูอีกสักครั้ง"
ตามตำนานเล่าขานกันว่า ดารุมะถือกำเนิดจากพระอรหันต์รูปหนึ่ง ชื่อหลวงพ่อดารุมะ ท่านเป็นโอรสของมหาราชาผู้ครองแคว้นเล็กๆในอินเดีย พระบิดาของท่านทรงนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน รุ่นที่ 28 หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่าลัทธิเซ็น หลวงพ่อดารุมะเดินทางแสวงบุญมายังประเทศจีนในราวศตวรรษที่ 6 เพื่อเผยแผ่ลัทธิเซ็น ณ ที่นั้น ท่านหันหน้าเข้ากำแพงนั่งสมาธิเป็นเวลานานถึง 9 ปีโดยไม่พูดจาหรือขยับเขยื้อนไปไหนแม้แต่น้อย ทั้งนี้ก็เพื่อให้บรรลุธรรม เล่ากันว่าท่านเพ่งสมาธินานจนขาทั้งสองข้างเหี่ยวลีบเดินไม่ได้ แต่แล้วปาฏิหาริย์ก็บังเกิด เมื่อจิตรกรคนหนึ่งเข้าใจผิด คิดว่าร่างท่านเป็นรูปปั้นโบราณ จึงปั้นขาต่อเติมให้ใหม่ ขาทั้งสองของท่านจึงกลับมาใช้งานได้ดังเดิม นับแต่นั้นเป็นต้นมา เรามักจะเห็นภาพวาดของหลวงพ่อดารุมะยืนอยู่บนใบอ้อหรือใบไผ่ลอยข้ามทะเลญี่ปุ่น (แต่ชาวจีนซึ่งพากันเรียกท่านว่า ตั๊กม้อ จะค้านว่าเป็นแม่น้ำแยงซีต่างหาก) ราวกับจะบอกว่าท่านมีอิทธิฤิทธิ์เหนือแรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติของโลก ภาพวาดของหลวงพ่อดารุมะส่วนใหญ่เป็นภาพล้อเลียน องค์ประกอบสำคัญที่พบในทุกรูปก็คือ ท่านห่มจีวรแดงตามอย่างพระอินเดีย ดวงตาดุดันทั้งสองปกคลุมด้วยใยแมงมุม อากัปกิริยาบิดขี้เกียจและอ้าปากหาวกว้างผิดปกติ
ในญี่ปุ่นการอุทิศตัวเพื่อศาสนาของท่านเป็นที่กล่าวขวัญถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะในหมู่ซามูไรและนักปราชญ์ที่เห็นว่าความเรียบง่ายและความสมถะของเซ็นกลมกลืนกับวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างยิ่ง นอกจากนี้ท่านยังมีอายุยืนยาวอย่างน่าประหลาดใจ คือกว่า 290 ปี คำนวณได้จากช่วงปีที่ท่านเดินทางมาถึงจีนในปีค.ศ. 520 แล้วจาริกมาถึงญี่ปุ่นปีค.ศ. 813 ข้อนี้ก็แล้วแต่ใครจะเชื่อ ไม่ขอยืนยันข้อเท็จจริง
เชื่อกันว่าหลวงพ่อดารุมะเป็นผู้นำวัฒนธรรมการดื่มชาเข้ามาสู่จีนและญี่ปุ่น ตามคำเล่าขาน ตอนที่ท่านเผลอหลับขณะนั่งทำสมาธิ ท่านรู้สึกโกรธกับความผิดพลาดถึงขนาดตัดเปลือกตาของตัวเองทิ้งและโยนลงบนพื้น บริเวณที่เปลือกตาตกลงไปนั่นเอง ต้นชาก็ผลิใบขึ้นมา ตั้งแต่นั้นพระญี่ปุ่นต่างก็พากันดื่มชาเพื่อให้สติตื่นอยู่ตลอดเวลาขณะนั่งสมาธิ ยิ่งกว่านั้นชาเขียวยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรอีกด้วย จึงนิยมดื่มกันอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นเครื่องดื่มประจำชาติในที่สุด
เมื่อพระภิกษุในพุทธศาสนาจาริกแสวงบุญข้ามไปมาระหว่างเกาะญี่ปุ่นกับจีนแผ่นดินใหญ่ จึงเกิดการแลกเปลี่ยนทั้งทางวัฒนธรรมและการเกษตร นับแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ทุกอารามจึงมีประเพณีดื่มชาร่วมกัน นี่เองที่เป็นที่มาของประเพณีชงชาของญี่ปุ่น
ตุ๊กตาดารุมะในญี่ปุ่นมีหลากหลายรูปแบบ แตกต่างกันไปตามภาคต่างๆของญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่นที่นิอิงาตะ จะมี "ซังกากุ" ซึ่งเป็นดารุมะทรงสามเหลี่ยม ได้แรงบันดาลใจมาจากเสื้อฟางตัวยาวคลุมเข่าที่ชาวบ้านใช้กันฝนและหิมะ ส่วนที่อิชิกาวะจะเป็นดารุมะแบบแข็งๆเคลือบด้วยแล็กเกอร์ เพราะอุตสาหกรรมแล็กเกอร์ของที่นี่เฟื่องฟูมาก แถมยังมีการทำเปเปอร์มาเช่เป็นคู่สีแดงกับขาวอีกด้วย และที่มัตสิยาม่า มีตุ๊กตาดารุมะผู้หญิงที่ผมทำจากผมคนจริงๆอีกด้วย
ขอบคุณที่มา : นิตยสาร Seventeen